นักวิจัยธรรมศาสตร์ กวาด17 รางวัล งานประกวดนวัตกรรมนานาชาติกรุงเจนีวา

0
1634

 นักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 44 (44th International Exhibition of Inventions of Geneva) จำนวนสูงสุดรวม 17 รางวัล ประกอบด้วย 4 เหรียญทองเกียรติยศ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 5 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัล Special Prize เผยทีมธรรมศาสตร์สร้างความตื่นตาตื่นใจในเวทีประกวด ด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ อาทิ 4 ผลงานรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ “เครื่องมือตรวจประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยใช้การรู้จำเสียงพูด” “เครื่องตรวจคัดกรองจอตาอักเสบจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส“ “เตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ”และ“บรรจุภัณฑ์แบบ Active and Smart Packing สำหรับลำไยไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก” พร้อมผลงานแปลกใหม่ “เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋า แบรนด์เนม Hermès โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” และอีกหลายผลงานสร้างชื่อให้ประเทศ ทั้งนี้ผลงานทั้งหมดจะถูกส่งเข้าระบบบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) แบบ Fast Track เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไปอย่างไรก็ดี งานประกวดดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ กรุงเจนีวาสมาพันธรัฐสวิส

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งคณาจารย์และนักวิจัยเข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใน เวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ 44th International Exhibition of Inventions of Geneva ณ กรุงเจนีวาสมาพันธรัฐสวิสซึ่งในปีนี้คณะวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลสูงสุดโดยได้ถึง 17 รางวัล ได้แก่

            รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold medal with the congratulations of the jury) 4 เหรียญ

  • ผลงานจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รางวัลเหรียญทอง (Gold medal) 2 เหรียญ

  • ผลงานจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

      รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) 2 เหรียญ

  • ผลงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์

            รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze medal) 5 เหรียญ

  • ผลงานจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            รางวัลพิเศษ (Special prize) 4 เหรียญ

  • ผลงานจาก คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะผู้นำทีมนักวิจัย มธ. เข้าร่วมงานประกวดในครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า ผลงานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษในงานดังกล่าว ได้แก่ เครื่องมือตรวจประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยใช้การรู้จำเสียงพูด” นวัตกรรมอัจฉริยะที่สามารถคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย จากเสียงพูดเตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ นวัตกรรมตรวจจับเสียงเสมหะในปอดของทารกและเด็กเล็ก และหาตำแหน่งของเสียงเสมหะทำงานสอดคล้องกับเตียงที่สามารถปรับระดับได้อัตโนมัติ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิด และ “เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนม Hermès โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” นวัตกรรมตรวจสอบกระเป๋า Hermès กระเป๋าราคาเรือนล้านที่เป็นที่นิยมของเศรษฐีทั่วโลก โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าวได้ต่อยอดมาจากงานนวัตกรรมตรวจพระเครื่องประเภทเหรียญปั้มว่าแท้หรือปลอม ซึ่งเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลงานทุกผลงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจะถูกส่งเข้าระบบบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) แบบ Fast Track เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมการประกวดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผลงานของนักวิจัยไทยได้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

            “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21”

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th

###

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.