ไทย-เมียนมา จับมือแก้ค้ามนุษย์ จ้างงาน “รัฐต่อรัฐ”

0
758
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าวันนี้ (2 พ.ค. 59) พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ เดินทางไปประชุมหารืออย่างเป็นทางการกับ นายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร ของเมียนมา ที่เมืองเนปิดอว์ เมียนมา ทั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าจากการประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

ซึ่งประเด็นที่คงค้างอยู่คือ เรื่อง MOU การดำเนินความร่วมมือในการจัดส่งแรงงาน และข้อตกลงในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งนี้ หลังจากเมียนมามีรัฐบาลใหม่ ได้แต่งตั้ง นายเต็ง ส่วย ฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ คนใหม่ ทั้งสองฝ่ายจึงได้มาหารือกันอีกครั้ง เพื่อต้องการให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอาเซียนที่ สปป.ลาว ในกลางเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไทยได้รับความร่วมมือและได้มีข้อตกลงด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าวจาก สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชาแล้วเป็นอย่างดี การประชุมหารือกับเมียนมา จึงเป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่มประเทศ CLMTV ซึ่งผลการหารือทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งการติดตามความคืบหน้าในเรื่องเดิม และประเด็นใหม่ ๆ ที่จะให้ความร่วมมือและแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน โดยเมียนมาได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาแรงงานของตน โดยมีการยุบรวมกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองรวมกับกระทรวงแรงงานเข้าด้วยกัน เป็นต้น ผลการหารือในครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ ๆ คือ ความคืบหน้าการจะดำเนินการร่วมกันในการจัดส่งแรงงานตาม MOU เป็นการจัดส่ง แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งทางเมียนมามีความพร้อม และรัฐบาลได้อนุมัติแล้ว ทั้งนี้ฝ่ายไทยจะได้เสนอขออนุมัติรัฐบาลเพื่อลงนามร่วมต่อไป

 

นอกจากนั้น ในด้านข้อตกลงการจ้างแรงงานตาม Agreement จะดำเนินการในรายละเอียด โดยจัดตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดจุดเข้าออกของแรงงาน เพิ่มขึ้นที่พุน้ำร้อน กาญจนบุรี พร้อมเปิดศูนย์อบรมที่ชายแดนเพื่อเป็นการปฐมนิเทศก่อนเข้ามาทำงานและส่งกลับเพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะเน้นความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย รวมทั้ง ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อมิให้มีการหลอกลวงแรงงาน ป้องกันแรงงานบังคับ มิให้นำไปสู่การค้ามนุษย์และขอความร่วมมือให้เมียนมาประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนเมียนมาได้ทราบข่าวสารที่ถูกต้องด้วย

 

นายธีรพลฯ กล่าวในท้ายที่สุดว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องคนไทยอีกครั้งว่า การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย ไม่ใช่ นำเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ แต่นำเข้ามาทดแทนในงานที่คนไทยไม่ทำ ในกิจการที่กำหนดไว้เท่านั้น ได้แก่ งานกรรมกรและรับใช้ในบ้าน และต้องเป็นไปตามความจำเป็นที่สถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อมิให้กิจการต้องหยุดชะงักซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ จำนวนที่นำเข้ามาก็ตามจำนวนที่สถานประกอบการต้องการเท่านั้น ใครต้องการแรงงานชาติใด เท่าใด เราก็นำเข้าแรงงานต่างด้าวชาตินั้น ๆ ตามจำนวน มิใช่นำเข้ามาเท่าใดก็ได้ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว
728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.