“แก่งละว้า”ต้นแบบ”ละว้าโมเดล”นำทางสู่แรงบันดาลใจนักวิจัยรุ่นใหม่

0
1202

“แก่งละว้า” พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่หลายตำบล อำเภอ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะอำเภอบ้านแฮด และอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน
พื้นที่ดังกล่าวก็มีปัญหาในมิติอื่นๆ เช่นกัน

ด้วยความหลากหลายทางกายภาพและชีวภาพจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้
ให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาศึกษาและร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างงานวิจัยที่เกิดประโยชน์สามารถแก้ปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้นได้

จากจุดเด่นและความเข้มแข็งของชุมชน “แก่งละว้า” จึงเหมาะกับการเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ ได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้แลกเปลี่ยนโดยตรงกับชาวบ้านในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรม เวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ“พื้นที่ชนบทไทย โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่”  TSDF-TRF Sustainability Forum ครั้งที่ 1 ประจำปี 2559ที่มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ขอนแก่น ร่วมกันจัดขึ้น ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8-10 ก.ค.ที่ผ่านมา

ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ริเริ่ม “ละว้าโมเดล” ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่วิจัยหาสาเหตุการเกิดเรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับอันเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งท่อน้ำดี

ศ.ดร.บรรจบ  กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นโรคที่พบได้ในพื้นที่ชนบทของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยจากการสำรวจลงพื้นที่วิจัยในจังหวัดขอนแก่น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2550-2551 พบว่า อำเภอบ้านไผ่ มีจำนวนประชากรที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุด โดยมีสาเหตุหลักที่สำคัญคือการติดเชื้อพยาธิจากการกินปลาดิบของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากการกินปลาดิบเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของชาวบ้าน ทำให้นำไปสู่การศึกษากลไก ระบบ การควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับเพื่อจะให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่กินปลาดิบที่นำไปสู่โรคพยาธิใบไม้ตับ

ศ.ดร.บรรจบ  กล่าวว่าการที่เราจะทำให้เกิดความยั่งยืนของการควบคุมอันดับแรกที่สำคัญคือ การมีนโยบายที่ชัดเจนของกระบวนการนำความรู้ลงสู่ชุมชนของคนในพื้นที่  จึงเป็นที่มาของการใช้หลักการแบบบูรณาการวิถีนิเวศสุขภาพ (Eco Health) โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้นำชุมชน อสม. รพ.สต. และโรงเรียน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย เพื่อก่อให้เกิดบทเรียนร่วมกันของการขับเคลื่อนให้ประชาชนรับรู้ และเข้าใจในเรื่องพยาธิ เข้าใจระบบวงจรชีวิตของพยาธิ นอกจากนี้ยังมีการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดการลด ละ เลิก “กินปลาดิบ” และการดูแลตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

“ละว้าโมเดล” จึงเป็นการวิจัยของชุมชน ที่ขับเคลื่อนให้องค์ความรู้เรื่องพยาธิ และการจัดกิจกรรมกับชุมชน เพื่อกระตุ้นชุมชนให้เกิดความรู้ ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อพยาธิจากการกินปลาลดลง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรภายในโรงเรียนให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน โรงเรียนเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่กินปลาดิบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่แก่งละว้า ศ.ดร.บรรจบ กล่าว

ผศ.ดร.วิเชียร ปลื้มกมล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองมีโอกาสได้ศึกษาและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้แทนชุมชนในพื้นที่รอบแก่งละว้า เมื่อปี 2557 โดยได้พบปัญหาของเรื่องทางกายภาพการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่ เนื่องจากแก่งละว้าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ปัจจุบันมีการขุดลอกพื้นที่บางส่วนของแก่งและสร้างอาคารบังคับน้ำควบคุมการไหลของน้ำ ทำให้สภาพระบบนิเวศของพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อเข้าไปศึกษาผลกระทบจากการขุดลอกพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ที่ดูแลโดยกรมชลประทาน ซึ่งมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ  การสร้างประตูระบายน้ำ และการสร้างถนนขวางทางน้ำที่จะไหลเข้าพื้นที่ชุ่มน้ำ กลับทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือเป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ขวางกั้นทางน้ำทำให้น้ำที่เคยไหลบ่าเปลี่ยนทิศทาง เกิดการท่วมขังพื้นที่โดยรอบแก่งและส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ รวมถึงโดยธรรมชาติพื้นที่ของแก่งละว้ามีความเสี่ยงทั้งเรื่องของน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งอยู่แล้ว

ผศ.ดร.วิเชียรกล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่แก่งละว้ายังคงมีความขัดแย้งกันในด้านการใช้ประโยชน์และด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะยาวถ้าไม่มีแผนแม่บทในการดำเนินการแก้ปัญหา แก่งละว้าจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการแย่งน้ำกัน ปัญหาระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แก่งละว้า จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักวิจัยเป็นอย่างมาก

ภายหลังจากมีการทำงานวิจัยในพื้นที่ ก็ได้เกิดการวิจัยอีกหลายเรื่องตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การอนุรักษ์ฟื้นฟูปลาสัตว์น้ำ ความขัดแย้งในชุมชน การเติบโตของชุมชน การใช้พื้นที่สาธารณะ การดูแลป่า การปรับตัวในการประกอบอาชีพ เช่น การเลี้ยงปลาน้ำกร่อยในพื้นที่รอบแก่งละว้า ที่มีสภาพดินเค็ม การทำพลังงานทดแทน การปลูกพืชอินทรีย์ เป็นต้น

จากองค์ความรู้และประสบการณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ ในการเสวนาครั้งนี้จึงมีการพานักวิจัยลงพื้นที่แก่งละว้า โดยแบ่งนักวิจัยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบแก่งละว้า โดยมีการลงพื้นที่ของหมู่บ้านหนองร้านหญ้าต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าที่ชาวบ้านรวมกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์และทวงคืนป่าจากการถูกบุกรุก  การปรับตัวของเกษตรทำปลากระชังในพื้นที่รอบแก่งละว้าโดยหันมาเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ดินเค็ม พื้นที่บ้านละว้า ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นต้นแบบละว้าโมเดลเรื่องพยาธิใบไม้ตับอันเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งท่อน้ำดี พื้นที่เขตอนุรักษ์หัวโนนจาน บ้านชีกกค้อ ต.เมืองเพีย ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบนิเวศที่ชาวบ้านตั้งเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า และจุดสุดท้ายพื้นที่ตำบลโคกสำราญ อ.บ้านแฮด ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ผักปลอดสารพิษ พลังงานทดแทนซึ่งมีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ที่ได้นำมาเอาเป็นจุดขายจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกลุ่มผักปลอดสารพิษโคกสำราญ แม้จะมีข้อจำกัดด้านเวลา แต่นักวิจัยได้เห็นถึงปัญหา รูปแบบการปรับตัว ระบบการจัดการตนเอง ที่สำคัญมีนักวิจัยหลากหลายสาขาเข้าไปได้เรียนรู้ภาคสนามพร้อมกัน เพื่อนำเอาโจทย์มาศึกษา วิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ชนบทไทยในอนาคต

นราวิทย์ดาวเรือง อาจารย์จากภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า เป้าหมายในการเข้ามาร่วมเรียนรู้ครั้งนี้ คือ อยากได้เครื่องมือกระบวนการที่นำไปใช้ในการทำงานวิจัยชุมชน เพราะถ้าเราไปหาประเด็นปัญหาไม่ตรงจุดชาวบ้านก็จะไม่สนใจ แต่ถ้าตรงประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านประสบปัญหาเขาจะสนใจเขาจะมาร่วมงานกับเรา อย่างละว้าโมเดลเรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ตนเองสนใจคือการศึกษาเรื่องคน ศักยภาพของคน

“เลือกไปที่บ้านหนองร้านหญ้า เพราะสนใจการร่วมกันจัดการและร่วมกันรักษาป่า รวมถึงการปรับตัวของคนในพื้นที่ในการดำรงชีพอาชีพเกษตรกร ทำไมคนที่นี่ถึงได้เปลี่ยนแนวคิดมาต่อสู้เพื่อเอาผืนป่าคืน อะไรที่ไปคลิกความคิดของคนในชุมชนจนเกิดการรวมตัวกัน ซึ่งก็คือประเด็นการทำวิจัยนั่นเอง ส่วนตัวแล้วถนัดเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยหรือหัวข้องานวิจัยได้”

นอกจากนั้นยังอยากทำความรู้จักเครือข่ายนักวิจัยต่างมหาวิทยาลัย  เพราะเมื่อมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นการทำงานวิจัยก็จะครอบคลุมได้หลายมิติ

ณัชฎา คงศรีอาจารย์ประจำวิชาพลเมืองกับประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเลือกลงพื้นที่บ้านโคกสำราญ ให้ความเห็นว่า การลงพื้นที่ทำให้ได้ความรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลาย สิ่งที่ได้จากชาวบ้านคือความยั่งยืนจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานทดแทนที่ชาวบ้านได้ลงมือทำพลังงานจากแสงอาทิตย์ จากกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน พัฒนาทุกวันจนกลายเป็นทางเลือกเรียกได้ว่าตอบโจทย์ความยั่งยืนของชุมชนอย่างแท้จริง

“ชัดเจนมากที่เราพบว่าชาวบ้านกลายเป็นนักวิจัย เรามักจะคิดว่านักวิจัยนักวิชาการเป็นผู้รู้ แต่จริงแล้วเราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ขณะที่ชาวบ้านเขารู้แล้วและเริ่มต้นแล้ว ทำให้ให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง เราต้องเริ่มเปลี่ยนจากตัวเรา ยังมีประเด็นให้น่าศึกษาอีกมากที่นักวิจัยรุ่นใหม่อย่างเราต้องทำความเข้าใจเพื่อให้งานวิจัยโดยเฉพาะในชุมชนเกิดความยั่งยืนจริงๆ”

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.