สสจ.สงขลา เตือนประชาชนให้ระวังการชำแหละและบริโภคเนื้อสัตว์

0
1698
นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าในโค มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ในประเทศไทยโคที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มักจะมีประวัติการติดโรคมาจากการถูกสุนัขบ้าหรือแมวบ้ากัด โดยมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในโคปีละประมาณ 60 ตัว และจังหวัดสงขลาในปี 2559 จากการตรวจหัวสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลาไตรมาสแรก ปี 2559 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2559) จากหัวสุนัขส่งตรวจ พบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข 17 ตัว (ร้อยละ 47.22) จากจำนวนทั้งสิ้น 36 ตัว ในโคส่งตรวจ 8 ตัวพบ 8 ตัว (100%) หลังได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า โคจะเริ่มมีอาการป่วย โดยระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในโค เฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ (เป็นได้ตั้งแต่ 13 วัน ถึงหลายเดือน) อาการป่วย ได้แก่ การมีไข้ ไม่กินหญ้า ซึม มีอาการหาว น้ำลายไหลเป็นฟอง ดุกว่าปกติ หางตก กล้ามเนื้อท้องแข็งตึง เบ้าตาจมลึก หูกระดกไปด้านหลัง กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน เดินไม่ตรงทาง ส่งเสียงร้องอย่างผิดปกติติดต่อกัน กระวนกระวาย กระทืบเท้าหลัง พยายามจะออกจากคอกที่ขังโดย วิ่งชนคอกเป็นระยะๆ และอาจแสดงอาการแปลกๆ เช่น เอาหัวซุกพื้นคอกแล้วยกส่วนท้ายสูงขึ้น แสดงอาการกระหายน้ำจัด และพยายามดูดน้ำกินแต่ส่วนใหญ่น้ำจะไหลออกทางมุมปาก ต่อมาจะเกิดเป็นอัมพาตล้มลงนอน ส่งเสียงร้องเป็นระยะๆ น้ำลายไหลมาก ลูกตาเหลือกขึ้นด้านบน ม่านตาขยาย ลิ้นห้อย ออกนอกปาก คอเหยียด และตายในที่สุด การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในโคที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัด หรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อจะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นบ้าเป็นส่วนใหญ่
สำหรับการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ที่ทำในสุนัขและแมวนั้นคงกระทำได้ยาก ยกเว้นกรณีอยู่ในบริเวณที่มีโรคระบาดชุกชุม หรือมีโคป่วยด้วยโรคนี้อยู่ในฝูง ทั้งนี้ถ้าโคได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ก่อนแล้วและถูกสุนัขบ้ากัด ในภายหลังให้รีบฉีดวัคซีนซ้ำในทันทีและสังเกตอาการนาน 90 วัน ถ้าโคไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน และถูกสุนัขบ้ากัดให้รีบแจ้งปศุสัตว์ทันที เพื่อฉีดวัคซีนให้แก่โค และให้สังเกตอาการของโคนาน 180 วัน ซึ่งหลังจากนั้นหากโคตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ เพื่อมาตรวจสอบ ดำเนินการตัดหัวโคส่งตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้ห้ามนำเนื้อโคที่ตายผิดปกติไปบริโภค หรือไปแจกจ่ายเพื่อกระทำการใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะผู้สัมผัสอาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากน้ำลายของโคที่ปนเปื้อนในขณะชำแหละในขณะปรุง ประกอบอาหารและการบริโภคเนื้อได้ ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.