ประกาศ ห้ามจับสัตว์น้ำจืดในช่วงวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนทั่วประเทศ

0
1911

ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สัตว์น้ำจืดของประเทศไทย เป็นทรัพยากรของแผ่นดินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นความมั่นคงด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อการยังชีพ และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ทรัพยากรสัตว์น้ำสามารถฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทนและดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ หากเรารู้จักการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในทางตรงกันข้ามหากมีการนำมาใช้เกินสมดุลกำลังผลิตของธรรมชาติ ก็จะเป็นสาเหตุให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงจนเกิดการสูญพันธุ์ได้ในที่สุด ดังนั้นกรมประมงจึงได้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ และปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการควบคุมเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพบางชนิด เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ในช่วงฤดูปลาวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน
กรมประมง มีนโยบายชัดเจนและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการศึกษาวิจัย ติดตามสภาวะทรัพยากรประมง เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ตรวจตราควบคุมเฝ้าระวัง คุ้มครองดูแลรักษาและป้องกันสัตว์น้ำในธรรมชาติ เพื่อการทำการประมงที่เหมาะสม มาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงดังกล่าว คือการประกาศและกำหนดช่วงเวลา หรือพื้นที่ท้องที่จังหวัด โดยการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุมแหล่งน้ำจืดของประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกำหนดเพื่อใช้เป็นมาตรการด้านการสงวนคุ้มครอง และอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดในฤดูที่กำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ให้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ เพื่อเกิดผลผลิตสัตว์น้ำของแหล่งน้ำในปีต่อๆ ไป
กรมประมงจึงขอประกาศปิดฤดูการทำประมงในเขตน้ำจืด ในระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 15 กันยายน 2559 พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น 10 จังหวัด ที่มีประกาศปิดฤดูการทำประมงในเขตน้ำจืดเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2559
2. จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2559
3. จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559
4. จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559
5. จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559
6. จังหวัดหนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2559
7. จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2559
8. จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2559
9. จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2559
10. จังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 31 มกราคม 2560
โดยห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใดๆ ในที่จับสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ยกเว้นเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ เป็นเครื่องมือบางชนิดที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้นเบ็ดราว
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และขนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้าง ไม่เกิน 2 เมตร โดยห้ามไม่ให้ทำการประมงด้วยวิธีประดาหน้าตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง
4. การทำประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยง ซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงให้อนุญาตเท่านั้น
บทกำหนดโทษ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ ยังมีผลบังคับใช้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 171 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง
โดยในปีนี้กรมประมง ได้กำหนดจัดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ “ฤดูน้ำแดง” ประจำปี 2559 ในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2559 ณ บริเวณท่าชัยยุทธ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อธิบดีกรมประมงได้กล่าวตอนท้ายว่า….กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือจากพี่น้องที่มีอาชีพจับสัตว์น้ำ และประชาชนทั่วไป ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ และร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกการทำประมงอย่างถูกวิธี ไม่ทำลายสัตว์น้ำ ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ไม่จับปลาในฤดูที่ปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน พร้อมกันนี้กรมประมงขอความร่วมมือ ให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกเพื่อหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำ ในท้องถิ่นตนเอง ผ่านการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์สัตว์น้ำ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่กรมประมง ในการสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เปิดโอกาสให้ฤดูกาลที่สัตว์น้ำจืดกำลังมีไข่ ได้วางไข่และแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำจืด เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืนสืบต่อไป

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.