ตลึง!!ผลวิจัยพบ “พลาสติก” ปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวดหลายยี่ห้อ “ไทย” ก็เจอ

การปนเปื้อนน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่น้ำถูกบรรจุลงขวด พลาสติกส่วนใหญ่ที่พบมาจากตัวขวด ฝาพลาสติก และขั้นตอนการบรรจุในโรงงานอุตสาหกรรม”

0
1211

ช่าวเอเอฟพี 

น้ำดื่มบรรจุขวดหลายยี่ห้อที่วางจำหน่ายใน 9 ประเทศ รวมถึงไทย

มีการปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก (plastic particle) ซึ่งอาจปะปนเข้าไประหว่างกระบวนการบรรจุขวด รายงานการศึกษาซึ่งจัดทำโดยองค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไร Orb Media ระบุ

รายงานสรุปผลการศึกษาที่ Orb Media เผยแพร่เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ระบุว่า ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดย เชอร์รี เมสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติกจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กที่ฟรีโดเนีย สำรวจพบ “การปนเปื้อนในวงกว้าง” ของอนุภาคพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวด

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการสุ่มตัวอย่างน้ำดื่ม 250 ขวดใน 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนยา, เลบานอน, เม็กซิโก, ไทย และสหรัฐอเมริกา และพบอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนจากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93 ในจำนวนนี้รวมถึงน้ำดื่มยี่ห้อดังอย่าง Aqua, Aquafina, Evian, Nestle Pure Life และ San Pellegrino

อนุภาคพลาสติกที่พบมีทั้งพอลีโพรพิลีน, ไนลอน และพอลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ซึ่งใช้ในการผลิตฝาขวด

“จากผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 65 ของอนุภาคที่พบมีลักษณะเป็นเศษพลาสติก ไม่ใช่เส้นใย” เมสัน ให้สัมภาษณ์

“ดิฉันเข้าใจว่าการปนเปื้อนน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่น้ำถูกบรรจุลงขวด พลาสติกส่วนใหญ่ที่พบมาจากตัวขวด ฝาพลาสติก และขั้นตอนการบรรจุในโรงงานอุตสาหกรรม”

ระดับความหนาแน่นของอนุภาคพลาสติกมีตั้งแต่ “ศูนย์เรื่อยไปจนเกินกว่า 10,000 อนุภาคต่อน้ำ 1 ขวด” รายงานระบุ

ไมโครพลาสติก ซึ่งหมายถึงอนุภาคพลาสติกที่มีขนาด 100 ไมครอน (0.10 มิลลิเมตร) มีการตรวจพบโดยเฉลี่ย 10.4 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ส่วนอนุภาคที่มีขนาดเล็กลงไปอีกจะพบเฉลี่ยสูงถึง 325 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร

สำหรับน้ำดื่มยี่ห้ออื่นๆ ที่รายงานระบุว่ามีการปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกเช่นกัน ได้แก่ Bisleri, Epura, Gerolsteiner, Minalba และ Wahaha

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า “ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน” ว่าอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด

“เราทราบเพียงว่ามันเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางประเภท ปัญหาจำนวนตัวอสุจิน้อยในเพศชาย รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น สมาธิสั้น (ADHD) และออทิสติก” เมสัน ระบุ

“เราต่างทราบดีว่าโรคเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีสังเคราะห์ในสภาพแวดล้อม และพลาสติกก็เป็นหนึ่งช่องทางที่สารเคมีเหล่านี้จะเข้าไปในร่างกายของเรา”

ผลวิจัยโดย Orb Media ก่อนหน้านี้ยังพบอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนใน “น้ำประปา” ด้วย ทว่าในปริมาณที่ต่ำกว่า

“โดยทั่วไปแล้ว น้ำประปายังถือว่าปลอดภัยมากกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด” เมสัน กล่าว

นักวิจัยกลุ่มนี้ใช้เทคนิคการย้อมสีไนล์เรด (Nile Red staining) ซึ่งเมื่อส่องด้วยแสงสีฟ้าจะทำให้อนุภาคพลาสติกเรืองแสงจนมองเห็นได้ชัดเจน

แจ็คเกอลีน ซาวิตซ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลโอเชียนา (Oceana) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า นี่คือหลักฐานยืนยันว่าสังคมควรหยุดใช้ขวดพลาสติกกันอย่างแพร่หลาย

“เรารู้ดีว่าพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในตัวของสัตว์ทะเล และนั่นหมายความว่าพวกเราเองก็เสี่ยงต่อการรับมันเข้าไปทุกๆ วัน” เธอกล่าว

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.