คลิป…พระสุรเสียง”ในหลวง” ด้วยพระอัจฉริยภาพทางด้านการ”สื่อสาร”

0
4711

พระราชกรณียกิจ รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงใช้วิทยุสื่อสาร เป็นอีกหนึ่งความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยที่แสดงให้เห็นว่า พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทรงงานหนักมาตลอดช่วงเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ

           ดร.ศรีภูมิ ศุขเนตร อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการบริษัท ยูไนเต็ดคอมมิวนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ได้เขียนบทความเรื่อง “ความประทับใจของข้าพเจ้า ต่อองค์ประมุข” เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตีพิมพ์ในวารสาร “สราญรมย์ ของกระทรวงการต่างประเทศ ฉบับที่ 17 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2545” ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ขออนุญาตนำเสนอบางส่วนของบทความดังกล่าวดังนี้

           “ในช่วง 14 ปี ที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงระหว่างปีพ.ศ.2510 ถึงพ.ศ.2524 ข้าพเจ้ามีความประทับใจ
ในพระราชจริยวัตรของทั้งสองพระองค์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เป็นอย่างยิ่ง แต่ข้าพเจ้าก็มิได้เคยนำมาเขียนให้ท่านผู้ใดทราบมาก่อน โดยเห็นว่าเป็นเรื่องภายใน และเราก็เป็นเพียงผู้น้อยที่เผอิญมีโชคดีได้เข้าถวายงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง

           แต่เมื่อคุณประภัสสร เสวิกุล ได้มาติดต่อเพื่อขอให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรที่ข้าพเจ้าได้ประสบมา และมีความประทับใจ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อมีส่วนในการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระราชจริยวัตรอันประทับใจให้แก่สาธารณชนได้ทราบในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้

ข้าพเจ้าเองจำได้ว่ามีโอกาสเข้าเฝ้าฯรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปีพ.ศ.2510 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงทักทายไต่ถามทุกข์สุขของข้าพเจ้าในงานแห่งหนึ่ง และเมื่อทรงทราบว่าข้าพเจ้าวิ่งออกกำลังกายภายในซอย 61 ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ห้านาฬิกาของทุกๆ เช้า ก็ทรงห่วงใยว่าอาจมีอันตรายจากรถยนต์หรือจากคนร้ายได้ เพราะเป็นซอยเปลี่ยวที่เงียบสงัด (ในขณะนั้น) จึงทรงมีรับสั่งให้ไปวิ่งออกกำลังกายร่วมกับคณะของพระองค์ท่าน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน การที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระเมตตาเช่นนี้ ก็คงจะเป็นเพราะข้าพเจ้าเป็นพี่เขยคนโตของ ม.ร.ว.เบญจวรรณ วรวรรณนางพระกำนัลและรองราชเลขาธิการในพระองค์ฯ ในขณะนั้น

           การที่เป็นผู้ชายคนเดียวเข้าไปวิ่งออกกำลังกายตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ และคณะฝ่ายในหลายท่านบนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทำความตื่นเต้นให้แก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง และต้องสำรวมกาย วาจา ใจ อย่างเคร่งครัด ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย

 

          ความประทับใจอย่างมากอีกวาระหนึ่งของข้าพเจ้า คือประมาณกลางปี พ.ศ.2512 อันเป็นปีที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะกรรมการ ที่มีความรับผิดชอบระดมสรรพกำลังด้านสื่อสารของทุกหน่วยราชการมาใช้ เพื่อรับการถ่ายทอดสดการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ประธานฯ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์) ในการนี้จึงได้มีการจัดตั้ง TVPool ขึ้นเป็นครั้งแรก และภายหลังการถ่ายทอดแล้ว ได้เปลี่ยนฐานะเป็น “บริษัทโทรคมนาคมเพื่อสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จำกัด” โดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นกรรมการผู้จัดการ นอกเหนือจากการเป็นรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ไปด้วยพร้อมๆ กันว่าที่จริงแนวทาง Privatization ในด้านโทรคมนาคม มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 แล้ว น่าเสียดายที่บริษัทนี้มาถูกยุบไปเมื่อ พ.ศ.2517 บริษัทนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ นำบริการที่แปลกใหม่ที่สุดในขณะนั้นเข้ามาใช้ในประเทศไทย 2 บริการ คือ บริการวิทยุติดตามตัว (paging sender) และบริการวิทยุโทรศัพท์ติดรถยนต์ (Radio Mobile Telephone Service) นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นTV Pool ซื้อรายการสดต่างๆ มาถ่ายทอดออกตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ หมุนเวียนกันไป เพื่อขจัดการแข่งขันกันซื้อรายการสดจากต่างประเทศ อันจะทำให้ผู้ขายรายการในต่างประเทศได้เงินมากที่เกิดจากฝ่ายไทยเราแย่งกันซื้อเอง

         เพื่อเป็นการทดลองใช้ ทางบริษัทจึงได้ถวายเครื่องหมายเลข 123 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการภายใน และในโอกาสต่อมา ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พลเรือตรีชลี สินธุโสภณ) ก็ได้นำ
คณะกรรมการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายวิทยุติดตามตัว จำนวน 10 เครื่อง เพื่อทรงเรียกใช้ข้าราชบริพาร
ที่จำเป็นได้ตลอดเวลา หลังจากนั้นได้ทรงตั้งเครือข่ายของพระองค์เอง เพื่อใช้ติดต่อกับข้าราชบริพารในพระองค์ ฝ่ายต่างๆ

       ต่อมาเมื่อบริษัทโทรคมนาคมเพื่อสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้นำบริการวิทยุโทรศัพท์ติดรถยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทยครั้งแรก ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายข้อชี้แจงต่อพระองค์ท่านอีก วิทยุโทรศัพท์ติดรถยนต์ในขณะนั้น นับว่าเป็นสิ่งใหม่เอี่ยม จึงเป็นที่สนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก

         ในปีพ.ศ.2518 ประเทศไทยได้เชิญคณะกรรมการองค์การสื่อสารทางดาวเทียวระหว่างประเทศ (International Telecommunication Satellite Organization หรือ INTELSAT) มาประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเสร็จประชุมแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะกรรมการบริหารขององค์การดังกล่าว และในฐานะอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้พาผู้เข้าประชุมทั้งหมดประมาณ70 คน ขึ้นเครื่องบิน บวท. ไปเฝ้าฯทั้งสองพระองค์ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะทั้งหมดเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2518 ตลอดระยะเวลาประมาณ5 ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทักทาย และสนทนากับหัวหน้าหน่วยโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ ด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการสื่อสารทางดาวเทียม ความรู้ด้านคลื่นวิทยุ การบริหารคลื่นความถี่ (Frequency Management) และเทคโนโลยีโทรคมนาคมด้านต่างๆ จนกระทั่งหัวหน้าหน่วยโทรคมนาคมที่เข้าประชุม มีความพิศวงในพระปรีชาญาณของพระองค์ในด้านโทรคมนาคมของประเทศ และก่อให้เกิดบรรยากาศอันดีเป็นอย่างยิ่ง ขากลับลงจากภูพิงคราชนิเวศน์ ถึงแม้ขุนเขา และหนทางจะปกคลุมไปด้วยหมอกหนาทึบ ก็หามีผู้ใดสนใจไม่ คุยกันถึงแต่พระราชจริยวัตร และบทสนทนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ

         ต่อมาเมื่อมีการการประชุมคณะกรรมการบริหารของ INTELSAT ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทุก 3 เดือน ตามปกติ เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ที่ประชุมก็จะได้กล่าวถึง Spirit of Chiangmai ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสามัคคี ความออมชอมยินยอมซึ่งกันและกัน และความพึงพอใจของทุกฝ่าย เพื่อหาข้อยุติให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นับว่าพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แผ่ไปถึงวงการโทรคมนาคมของโลก

พระอัจฉริยภาพในด้านโทรคมนาคมอีกครั้ง ก็คือเมื่อมีงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นที่แหลมฉบัง โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 กลุ่มบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในระบบ Iridium อันเป็นระบบดาวเทียม 66 ดวง โคจรระยะต่ำ (800 กม.) รอบโลก ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่นักบริหาร และนักธุรกิจทั่วโลก ที่จะสามารถติดต่อกันได้ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ (Anywhere, Anytime, Anyplace) ได้นำระบบดาวเทียม Iridium ไปออกร้านขนาดใหญ่ในงานพร้อมด้วยหุ่นจำลองรูปโลก และดาวเทียมที่วิ่งเป็นระนาบ ระนาบละ11 ดวง 6 ระนาบมาแสดงในงานด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในระบบ Iridium เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าในฐานะประธานกลุ่มบริษัท และนายบุญชัยเบญจรงคกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมกันถวายคำอธิบายต่อพระองค์ ทรงรับฟังและซักถามอย่างละเอียดและแสดงความห่วงใยถึงความสามารถของระบบ ซึ่งใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าแต่ค่อนข้างยุ่งยาก และยังไม่ได้พิสูจน์ในทางปฏิบัติว่าสัมฤทธิผล

         จนกระทั่งในปีพ.ศ.2543 ระบบ Iridium เสร็จเรียบร้อยหลังจากลงทุนไปรวมทั้งหมด 5.5 พันล้านเหรียญ หรือเป็นเงินไทยขณะนั้น 247,500 ล้านบาท ก็ประสบความล้มละลาย หลังจากเปิดให้บริการไม่ถึง 6 เดือน เนื่องจากรายได้ไม่พอแม้แต่จะมาจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร ทั้งนี้ เพราะระบบให้บริการได้เพียงทุกแห่ง ทุกเวลา แต่ไม่ใช่ทุกสถานที่ กล่าวคือ ไม่ประสบความสำเร็จในการให้บริการภายในอาคาร (บ้านพัก โรงแรม สำนักงาน) แต่จะต้องถือเครื่องออกมายังยืนกลางแจ้งให้สายอากาศพุ่งตรงไปยังดาวเทียม (Line of sight) จึงจะติดต่อลูกค้าได้ ซึ่งคาดว่าจะมีนักบริหาร นักธุรกิจ คหบดี ทั่วโลก 2 ล้านคน จึงเหลือเพียง 60,000 ราย ระบบจึงถึงแก่การล้มละลาย

นับว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านสื่อสารดาวเทียม จึงได้ทรงแสดงความห่วงใยได้ล่วงหน้าดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ในปีพ.ศ.2538 ข้าพเจ้าในฐานะนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้นำคณะกรรมการของสมาคมรวม 12 คน เข้าเฝ้าฯ เนื่องในอภิลักขิตสมัยศักราช ปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 พร้อมกับถวายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา และชุดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งสามารถรับ-ส่งข้อมูล ข่าวสาร ภาพ และเสียงได้ ด้วยความเร็วสูง และคุณภาพดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยกับเทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่เป็นอย่างมาก ได้ทรงพระกรุณาสนทนาอย่างไม่ถือพระองค์ ทรงซักถามตลอด ทั้งทรงได้คำแนะนำแก่ข้าพเจ้าและคณะกรรมการ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ยังความปลาบปลื้มและความชื่นชมในพระองค์ท่าน มาสู่คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเป็นล้นพ้น

ต่อมาในปีพ.ศ.2539 คณะกรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งในด้านโทรคมนาคม ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทรงคิดค้น ดัดแปลง และใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สื่อสารโทรนาคมที่ทันสมัยทุกประเภทในการติดต่อสื่อสารต่างๆ เป็นผลอย่างดียิ่งต่อการช่วยเหลือให้การสงเคราะห์แก่พสกนิกรชาวไทยโดยทั่วกัน โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบดำเนินอยู่ ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ฯลฯ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ครั้งที่ 9 จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ Telecom Man Of Nation แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เมื่อพระองค์ไม่ทรงขัดข้อง จึงได้มีประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ Telecom Man Of Nation แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2539 เวลา 09.30 น.ในงานแสดงเทคโนโลยี โทรคมนาคมและสารสนเทศ “Asiacomm 96” ซึ่ง ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้มาเป็นประธานในการเปิดงานครั้งนั้น

ข้าพเจ้าคาดหมายว่า ความประทับใจที่ข้าพเจ้าได้เขียนถึงพระองค์ท่าน คงจะแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพในด้านเทคโนโลยีของพระองค์ท่านและพระราชจริยวัตรอันประเสริฐที่ทรงพระกรุณาต่อพสกนิกรธรรมดาอย่างข้าพเจ้าและครอบครัว ข้าพเจ้าเชื่อว่า
คนไทยทุกคนคงจะต้องมีความประทับใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ เช่นเดียวกับข้าพเจ้าเป็นแต่ต่างวาระต่างโอกาสกัน”

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.